เรื่อง : สพ.ญ. ศราวลี ศุภกาญจน์
พยาธิหนอนหัวใจยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรงได้ทั้งในสุนัขและแมว แม้ปัจจุบันเราจะพบว่าจำนวนสัตว์ป่วยด้วยโรคพยาธิหนอนหัวใจจะลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ไม่ว่าจะเพราะการป้องกันที่ดี การตรวจวินิจฉัยที่พัฒนา หรือการรักษาได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นโรคที่ไม่อยากให้เจ้าของละเลยไปนะคะ
พยาธิหนอนหัวใจเป็นพยาธิตัวกลมๆ ชนิดนึงเหมือนพยาธิที่เจอในลำไส้แบบที่เราคุ้นเคย (แต่ไม่ใช่สปีชีส์เดียวกันนะคะ) พยาธิหนอนหัวใจชอบอาศัยในหลอดเลือดโดยเฉพาะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ส่งเลือดจากหัวใจไปฟอกที่ปอด หรือ Pulmonary artery และหัวใจห้องขวา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีพาหะนำโรค คือ “ยุง” ความรุนแรงของโรคมีได้ตั้งแต่ระดับที่มีพยาธิอยู่แต่สุนัขหรือแมวไม่แสดงอาการใดๆ หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อยเช่น ไอ ไปจนถึงแสดงอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น หายใจลำบาก ซึม ไม่กิน เป็นลม ท้องกาง เยื่อเมือกซีด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้
โรคพยาธิหนอนหัวใจรักษาได้นะคะ แต่ขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่ตรวจพบโรคด้วยว่ารุนแรงมากน้อย ตรวจเจอโรคในระยะไหน มีปริมาณพยาธิตัวเต็มวัยเยอะหรือน้อย ซึ่งปัจจุบันการวินิจฉัยมักใช้การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาโปรตีนของพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยเพศเมีย และการส่องตรวจตัวอ่อนระยะแรกของพยาธิหนอนหัวใจ ทั้งนี้ควรทำร่วมกับการ x-ray ช่องอกและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ด้วยเพื่อประเมินอาการทั้งหมด
แต่สิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการรักษาคือการป้องกันค่ะ เพราะการติดโรคจำเป็นต้องมียุงเป็นพาหะไปรับตัวอ่อนจากสัตว์ป่วย มาพัฒนาเป็นหัวอ่อนระยะติดต่อในตัวยุง จึงสามาถเอาไปติดให้สัตว์อีกตัวนึงเพื่อโตไปเป็นตัวเต็มวัยได้เท่านั้น การป้องกันแนะนำให้ทำร่วมกันหลายวิธี ทั้งการกำจัดยุงภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยง การป้องกันไม่ให้ยุงกัด และการใช้ยาที่สามารถฆ่าตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจได้ โดยยาที่ FDA หรือ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ยอมรับให้ใช้ได้สำหรับการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ คือยาในกลุ่ม Macrocytic lactone เช่น Ivermectin , Milbemycin oxime , Moxidectin และ Selamectin เป็นต้น ซึ่งมักเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดและพยาธิภายนอก/ภายในหลายๆ ตัวอยู่แล้ว มีให้เลือกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบหยดหลังหรือแบบกิน แต่ควรใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นประจำจึงจะให้ผลการป้องกันในระดับสูง ซึ่งสามารถเข้ามาปรึกษากับสัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดาเพื่อช่วยวางแผนในส่วนนี้ได้เลยค่ะ
รวมถึงถ้ามีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคพยาธิหนอนหัวใจหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ก็สามารถสอบถามทางโรงพยาบาลเข้ามาได้ในทุกช่องทางการติดต่อค่ะ และอย่าลืมที่จะป้องกันพยานธิหนอนหัวใจให้สัตว์เลี้ยงของเราก่อนที่จะสายไปนะคะ