เรื่อง : สพ.ญ.ชลิพร ครุธเวโช
การฝังเข็ม (Acupuncture) คือการนำเข็มขนาดเล็กและบางมากไปฝังตามจุดต่างๆ ของร่างกายตามศาสตร์แพทย์พื้นบ้านของจีนที่มีมายาวนานหลายพันปี เกี่ยวข้องกับสมดุลระหว่าง หยิน (Yin) และ หยาง (Yang) มีหลักการรักษาคือ การปรับสมดุลร่างกายจากการกระตุ้นจุดต่างๆ บนผิวหนังผ่านเส้นลมปราณ และทำให้ลมปราณไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งการฝังเข็มในสัตว์เลี้ยงนั้นใช้หลักและตำแหน่งเดียวกับการฝังเข็มในคนเพียงแต่ดัดแปลงมาเพื่อให้เข้ากับสรีระของสัตว์ที่เราจะทำการฝัง การฝังเข็มสามารถทำได้กับสัตว์ทุกชนิดที่จับบังคับได้ แต่ในกรณีสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษหรือสัตว์ที่มีความดุร้ายอาจจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจากสัตวแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติมก่อน
จุดฝังเข็ม (Acupuncture point) ที่ใช้ในการรักษาสัตว์เลี้ยงนั้นมีมากกว่า 150 จุด โดยแต่ละจุดล้วนเป็นตำแหน่งที่หนาแน่นไปด้วยปลายประสาทอิสระ (free nerve endings) หลอดเลือดแดงเล็ก (arterioles) ท่อน้ำเหลือง (lymphatic vessels) และเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก (mast cells)
ผลจากการฝังเข็ม (Acupuncture effect) สามารถเกิดขึ้นหลักๆ 3 ทาง ได้แก่ 1. การช่วยคลายความเจ็บปวด (pain relief) จากการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารลดความเจ็บปวดต่างๆ จากน้ำไขสันหลัง (CSF) และน้ำเลือด (serum) 2. กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและ 3. กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการเพิ่มปริมาณ antibody ที่มากระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cell) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นเราจึงสามารถใช้การฝังเข็มร่วมในการรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immuno-deficiency) ได้อีกด้วย
ปัจจุบันเริ่มมีการใช้การฝังเข็มร่วมกับการรักษาโรคต่างๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Intervertebral disc disease) ภาวะข้อต่อกระดูกอักเสบ (Arthritis) ภาวะข้อสะโพกเสื่อม (Hip Osteoarthritis) การบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (Urinary incontinent) ภาวะท้องผูก (constipation) อัมพฤกษ์ อัมพาต (Paresis, paralysis) และสภาพอื่นๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน
การฝังเข็มนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถือเป็นหนึ่งในการบำบัดที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง มีผลข้างเคียงที่น้อยมาก ไม่มีการเกินขนาด (overdose) หรือการเกิดพิษ (intoxication) เหมือนการรักษาทางยา ผลข้างเคียงที่อาจพบได้มีเพียงการระคายเคืองอักเสบบริเวณผิวหนังที่เข็มปักเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อทำการฝังเข็มแล้วสัตว์ส่วนใหญ่จะรู้สึกผ่อนคลาย ง่วงนอนขณะทำการรักษา โดยปกติสัตวแพทย์จะนัดสัตว์ป่วยมาทำการฝังเข็มสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 4-6 สัปดาห์ ในช่วงแรกของการรักษาแนะนำให้ทำการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 ครั้งแรกเพื่อประเมิณผลของการรักษา ถึงแม้ว่าจะเป็นการรักษาที่แทบจะไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย แต่การรักษาโดยการฝังเข็มนั้นยังคงเหมือนกับการรักษาแบบอื่นๆ คืออาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาได้เช่นกัน
โดยสรุปแล้วการรักษาด้วยการฝังเข็มนั้นถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วยดีขึ้น ทั้งการช่วยลดความเจ็บปวด การไหลเวียนเลือดที่ดีและการกระตุ้นระบบประสาททำให้สัตว์รู้สึกสดชื่น หรือแม้กระทั่งสามารถกลับมาสั่งการ บังคับควบคุมอวัยวะต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ตัวสัตว์กลับมาใช้ชีวิตได้ดีขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง