เรื่อง : สพ.ญ. ศราวลี ศุภกาญจน์ (หมอนุ่น)
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 2019 n-CoV ที่มีจุดเริ่มต้นของการระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ประเทศจีน ซึ่งจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสในวงศ์ Coronaviridae และอยู่ในสกุลเดียวกับโรคซาร์ส (Severe acute respiratory syndrome , SARs) และโรคเมอร์ส (Middle East respiratory syndrome, MERs) นอกจากไวรัสซาร์สและเมอร์สแล้วยังมี Coronavirus ตัวอื่นๆ อีก เช่น ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในสุนัข (Canine coronavirus) และไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในแมว (Feline enteric coronavirus) ที่เป็นเพื่อนร่วมวงศ์ Coronaviridae เช่นเดียวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่อยู่คนละสกุลกัน
ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในสุนัขนั้นจะทำให้เกิดอาการท้องเสียจากภาวะลำไส้อักเสบ คล้ายคลึงกับพาร์โวไวรัสในสุนัข (Canine parvovirus) และไวรัสโคโรนาในแมวเองก็ทำให้เกิดอาการท้องเสียในแมวเช่นกัน แต่มักจะเป็นการท้องเสียที่ไม่รุนแรงนัก เว้นแต่ว่าไวรัสโคโรนาในแมวนี้เกิดการกลายพันธุ์ให้มีความรุนแรงมากขึ้นจะทำให้เกิดโรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (Feline infectious peritonitis , FIP) ตามมา ซึ่งเป็นโรคที่มีความรุนแรงมากและมีโอกาสเสียชีวิตหลังแสดงอาการค่อนข้างสูง
ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคทั้งในสุนัขและแมวนั้นเป็นไวรัสที่ไม่ติดต่อมาสู่คน มีช่องทางการติดต่อหลักคือทางการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัส (fecal-oral route) และมักแสดงอาการทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งแตกต่างจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีหลักฐานทางสารพันธุกรรมว่าน่าจะมีต้นเหตุการระบาดมาจากสัตว์ มีช่องทางการติดต่อหลักเป็นทางการรับสิ่งคัดหลั่งจากการไอหรือจามเข้ามาในร่างกาย และมักแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ
แม้ว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในสุนัขและแมว แต่การป้อนกันเบื้องต้นเช่น หลีกเลี่ยงการพาสุนัข/แมวไปยังสถานที่แออัดและการรักษาความสะอาด สุขลักษณะเบื้องต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสุนัข/แมวที่เด็กหรือสุนัข/แมวที่มีอายุมากแล้วมีโอกาสติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางป้องกันโรคที่เหมือนกับการป้องกันไวรัสโคโรนาที่ก่อในสุนัขและแมว นอกจากนี้การป้องกันที่สำคัญสำหรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมวคือการแยกสัตว์ป่วย ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างสัตว์ป่วยและสัตว์ปกติ
การติดเชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมวยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ยกเว้นวัคซีนป้องกันในกรณีของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ แต่วัคซีนดังกล่าวที่มีในท้องตลาดนั้นก็ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ไม่สูงนัก ดังนั้นการวินิจฉัยสัตว์ป่วยเพื่อทำการรักษา และแยกสัตว์ป่วยและสัตว์ปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ
หากเจ้าของมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัสในสุนัขและแมว สามารถติดต่อโรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดาในทุกช่องทางการติดต่อ สัตวแพทย์ทุกท่านยินดีตอบทุกข้อสงสัยเพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีของสุนัขและแมวทุกตัวค่ะ