เรื่อง : สพ.ญ. ศราวลี ศุภกาญจน์ (หมอนุ่น)
ยุคหนึ่งการฝังไมโครชิพในสุนัขและแมวเป็นกระแสในสังคมเพื่อช่วยลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัด แต่จริงๆ ไมโครชิปพไม่ได้แค่ช่วยลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัดได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการระบุตัวตนของน้องหมาน้องแมวของเราเพื่อใช้ในกรณีต่างๆ เช่น ถ้าสุนัขหรือแมวของเราหายไปแต่มีไมโครชิพอยู่ก็มีข้อมูลที่อาจจะติดต่อเจ้าของกลับมาได้ หรือ ถ้าต้องการลงทะเบียนสายพันธุ์หรือขอประวัติพันธุกรรมของสัตว์เลี้ยงก็จำเป็นจะต้องใช้หมายเลขไมโครชิพเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการพาสุนัขหรือแมวไปต่างประเทศ การฝังไมโครชิพถือเป็นเรื่องบังคับเลยทีเดียวค่ะ
ถ้าให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น การฝังไมโครชิพก็เหมือนการติดบาร์โค้ดไว้บนสินค้าชนิดต่างๆ เมื่อเรานำเครื่องไปสแกนที่บาร์โค้ดก็จะปรากฎข้อมูลในระบบว่าเป็นสินค้าชนิดใด ผลิตที่ไหน วันที่ผลิต วันหมดอายุ เป็นต้น โดยไมโครชิพขนาดเล็กๆ จะถูกฝังด้วยกระบวนการคล้ายการฉีดวัคซีนเข้าไปที่ชั้นใต้ผิวหนังบริเวณตรงกลางระหว่างหัวไหลทั้งสองข้าง ข้อมูลของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของจะถูกบันทึกลงในระบบที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก เมื่อนำเครื่องมาสแกนบริเวณระหว่างไหล่ทั้งสองข้างก็จะปรากฏหมายเลขและนำไปดูข้อมูลต่างๆ ของสุนัขหรือแมวตัวนั้นได้ทันที
การฝังไมโครชิพสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เล็กๆ อายุ 30-45 วัน จนถึงสุนัขโต และเพื่อความสะอาด ปลอดภัย ในการฝังไมโครชิพควรดำเนินการโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ซึ่งโรงพยาบาลสัตว์ชั้นนำส่วนใหญ่รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดาของเราก็มีบริการฝังไมโครชิพพร้อมทั้งลงข้อมูลในระบบให้ครบวงจรค่ะ หากเจ้าของท่านไหนสนใจเรื่องการฝังไมโครชิพ หรือมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการฝังไมโครชิพสามารถติดต่อเข้ามาสอบถามทางโรงพยาบาลได้ทุกช่องทางการติดต่อค่ะ