เรื่อง: สพ.ญ.ศราวลี ศุภกาญจน์ (คุณหมอนุ่น)
หนึ่งในโรคติดต่อยอดฮิตของแมวคงหนีไม่พ้น โรคไข้หัดแมว หรือ ลำไส้อักเสบติดต่อในแมว ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Feline parvovirus หรือมีอีกชื่อว่า Feline panleukopenia virus หลายคนอ่านชื่อแล้วอาจจะคุ้นเคยกับเชื้อ Parvovirus ในสุนัขหรือ Canine parvovirus ที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อยอดฮิตอย่างโรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข ถึงแม้จะชื่อเหมือนกันแต่ไวรัสทั้งสองตัวนั้นไม่ใช้ไวรัสตัวเดียวกันนะคะ เพียงแต่เป็นเพื่อนสนิทที่มีความคล้ายกันค่อนข้างมาก จึงทำให้เชื้อไวรัสในสุนัขอย่าง Canine parvovirus ก็สามารถทำให้เกิดโรคในแมวได้เช่นกันนั่นเอง
แมวที่ป่วยด้วยโรคไข้หัดแมวในระยะแสดงอาการสามารถปล่อยเชื้อออกมาพร้อมกับสิ่งคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ และสามารถปล่อยเชื้อต่อเนื่องในอุจจาระได้หลังจากไม่แสดงอาการแล้วยาวนานถึง 6 สัปดาห์ เมื่อแมวที่ไม่ป่วยมาสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้ทั้งทางการดมผ่านจมูกหรือการเลียกินเข้าปาก ทำให้รับไวรัสเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงถ้าสิ่งคัดหลั่งและอุจจาระนี้ปนเปื้อนไปกับสิ่งของ เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่นต่างๆ แล้วแมวมาเลียดมก็ทำให้รับเชื้อเข้าร่างกายได้เช่นกัน
เมื่อแมวรับเชื้อเข้ามาแล้วและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อซึ่งมักจะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-7 วันหลังได้รับเชื้อ จึงเริ่มแสดงอาการให้เราสังเกตเห็น โดยอาการที่พบได้มีตั้งแต่ ซึม เป็นไข้ ไม่กินอาหาร อาเจียนและถ่ายเหลว ซึ่งความรุนแรงของแมวแต่ละตัวไม่เท่ากันขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันของตัวแมว ในรายที่รุนแรงอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน หรือ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตตามมาได้เช่นกัน
นอกจากอาการภายในนอกที่เราเห็นแล้ว เชื้อไวรัสยังไปกดการสร้างเม็ดเลือดขาว ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาสูง ถ้าเกิดการติดเชื้อในแม่แมวตั้งท้อง เชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านรกจากแม่สู่ลูก ส่งผลให้เกิดภาวะแท้ง ตายแรกคลอดหรือทำให้เกิดการยับยั้งการสร้างสมองน้อยหรือ Cerebellum ในลูกแมวที่เกิดมาจึงพบภาวะความผิดปกติทางระบบประสาทแต่กำเนิดเนื่องจากการเจริญที่ไม่เต็มที่ของสมองน้อย
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่เข้าไปฆ่าไวรัสตัวนี้โดยตรง การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อลดโอกาสในการเสียชีวิตให้มากที่สุด เช่น การให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด การให้ยากลุ่มลดอาเจียน ลดกรด รวมถึงยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น แมวที่สามารถคุมการติดเชื้อได้จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย และมีอาการดีขึ้นภายใน 2-7 วัน
เพราะเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงโรคหนึ่ง วัคซีนสำหรับโรคไข้หัดแมวจึงจัดเป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีด (Core vaccine) โดยเริ่มทำวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ และกระตุ้นอีก 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 4 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่ได้ป้องกันการเป็นโรคได้ 100% แต่การฉีดวัคซีนทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคและลดความรุนแรงในกรณีที่น้องแมวติดเชื้อมา เท่ากับว่าลดโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคลงไปด้วยค่ะ การฉีดวัคซีนโรคไข้หัดแมวจึงสำคัญมาก
เมื่อรู้แบบนี้แล้วอย่าลืมที่จะพาน้องแมวมาฉีดวัคซีนไข้หัดแมวตั้งแต่เข็มแรกและกระตุ้นวัคซีนอย่างเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันก่อนที่เด็กๆ ของเราจะได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายค่ะ และแน่นอนว่าหากพบอาการผิดปกติที่กล่าวมา แมวของเราอาจจะต้องสงสัยว่าเป็นโรคไข้หัดแมวอยู่ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที หากต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับวัคซีน การวินิจฉัย การรักษาหรือข้อมูลอื่นๆ ของโรคไข้หัดแมวเพิ่มเติมสามารถติดต่อโรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดาได้ทุกช่องทางการติดต่อค่ะ