เรื่อง: สพ.ญ.ศราวลี ศุภกาญจน์
เจ้าของหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “พยาธิเม็ดเลือด” กันมาบ้าง หรือบางท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ตรงกับการป่วยของสัตว์เลี้ยงจากโรคพยาธิเม็ดเลือด วันนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับพยาธิเม็ดเลือดกันมากขึ้นค่ะ
จริงๆ แล้วพยาธิเม็ดเลือดไม่ได้มีหน้าตาเหมือนพยาธิที่อยู่ในลำไส้แบบที่เราคุ้นชินกัน แต่พยาธิเม็ดเลือดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้การมองภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เข้ามาอาศัยและสร้างความเสียหายให้กับเซลล์เม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือดของสัตว์เลี้ยง ซึ่งพยาธิเม็ดเลือดนั้นมีหลายชนิดบางชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มโปรโตซัว (Protozoa) หรือบางชนิดเป็นกลุ่มริกเกตเซีย (Rickettsia) พยาธิเม็ดเลือดส่วนมากมักมีเห็บเป็นพาหะ (Vector) ในการนำตัวพยาธิเม็ดเลือดนี้จากสุนัขหรือแมวตัวหนึ่งไปยังสุนัขหรือแมวอีกตัวหนึ่งผ่านการโดนเห็บกัดหรือการกินเห็บเข้าไปนั่นเอง
เมื่อสุนัขหรือแมวป่วยเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดจะทำให้มีอาการไข้ ซึมลง ไม่ร่าเริง กินอาหารลดลง มักพบว่ามีสีของเยื่อเมือก เช่นบริเวณเหงือกซีดลงกว่าปกติ พยาธิเม็ดเลือดบางชนิดทำให้พบอาการปัสสาวะมีสีน้ำตาล หรือ สีโค้กจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย ในขณะที่พยาธิเม็ดเลือดบางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายจากการทำลายเกล็ดเลือด และไม่ใช่เพียงทำให้เกิดความเสียหายในระบบเลือดเท่านั้น แต่หากโรคมีความรุนแรงมากขึ้นสัตว์ป่วยอาจพบอาการไตวายเฉียบพลัน อาการทางระบบประสาท จนถึงทำให้เสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิเม็ดเลือดและความรุนแรงในสัตว์ป่วยแต่ละตัว
จะเห็นได้ว่าโรคพยาธิเม็ดเลือดนั้นสามารถสร้างความเจ็บป่วยให้สุนัขหรือแมวของเราได้มากมาย ทางที่ดีต้องป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราติดพยาธิเม็ดเลือด นั่นคือการควบคุมเห็บซึ่งเป็นพาหะสำคัญของพยาธิเม็ดเลือดหลายชนิด ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหลากหลายชนิดในท้องตลาดให้เจ้าของทุกท่านเลือกใช้ สิ่งสำคัญคือต้องใช้อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดหรือปรึกษาขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ แต่แม้ว่าจะป้องกันอย่างดีที่สุดแล้ว ถ้าสุนัขหรือแมวโดนเห็บกัด/กินเห็บและได้รับพยาธิเม็ดเลือดมา เจ้าของสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นควรพามาพบสัตวแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่รวดเร็วและการรักษาที่ถูกต้องก็จะทำให้โอกาสการเสียชีวิตลดลงได้ค่ะ
โรคพยาธิเม็ดเลือดเป็นตัวร้ายต่อสัตว์เลี้ยงของเรา แต่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ หากพบอาการผิดปกติ หรือมีข้อสงสัยใดๆ สามารถติดต่อโรงพยาบาลสัตว์จัสโก้รัชดาได้ทุกช่องทางการสื่อสารค่ะ